กระจอกชวา | น. ชื่อนกขนาดเล็กชนิด Lonchura oryzivora (Linn.) วงศ์ย่อย Estrildinae ในวงศ์ Passeridae ปากหนารูปกรวย หัวสีดำ แก้มสีขาว ตัวสีเทาอมฟ้า ท้องสีส้ม หางเว้าตื้น มีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เคยนำมาเลี้ยงใช้เสี่ยงทาย จึงเรียกว่า นกหมอดู. |
กระจอกเทศ | น. ชื่อนกขนาดใหญ่ชนิด Struthio camelus Linn. ในวงศ์ Struthiornidae เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวผู้สีดำ ตัวเมียสีน้ำตาล ขาใหญ่แข็งแรง ตีนมี ๒ นิ้ว วิ่งเร็ว แต่บินไม่ได้ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ปัจจุบันนำมาเพาะเลี้ยงในประเทศไทยเพื่อเป็นอาหาร. |
กอริลลา | น. ชื่อลิงไม่มีหางชนิด Gorilla gorilla Savage & Wyman ในวงศ์ Pongidae เป็นลิงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวสูงขนาดคนแต่ลํ่าสันและแข็งแรงกว่ามาก ขนลำตัวสีดำหรือสีเทา มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา. |
กาน้า | น. ชื่อไม้ต้นชนิด Canarium album (Lour.) Raeusch. ในวงศ์ Burseraceae ผลคล้ายสมอบางชนิด กินได้ มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน, สมอจีน ก็เรียก. |
กุย ๑ | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Saiga tatarica (Linn.) ในวงศ์ Bovidae เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง หัวใหญ่ ตัวอ้วน มีเขาเฉพาะตัวผู้ รูปร่างคล้ายพิณฝรั่ง สีขาวนวลโปร่งแสง มีวงเป็นข้อนูนต่อเนื่องกันจากโคนถึงปลาย จมูกลักษณะคล้ายกระเปาะ พองมีสันตามยาว หางสั้นมาก มีถิ่นกำเนิดในแถบไซบีเรียตอนใต้ มองโกเลียตะวันตก และจีนตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่พบในประเทศไทย เขามีราคาแพง ใช้ทำยาได้. |
โกสน | น. ชื่อไม้พุ่มชนิด Codiaeum variegatum (L.) A. Juss ในวงศ์ Euphorbiaceae ถิ่นกำเนิดในแหลมมลายูและแปซิฟิก มีหลายพันธุ์ ใบมีรูปร่างและสีต่าง ๆ กัน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ, โกรต๋น ก็เรียก. |
ค็อด | น. ชื่อปลาทะเลขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดแถบเขตหนาวของซีกโลกด้านเหนือ มีหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Gadidae ลำตัวยาวได้ถึง ๑๗๕ เซนติเมตร แบนข้างเล็กน้อย และเรียวไปทางข้างหาง เป็นปลาล่าเหยื่อ อยู่เป็นฝูงโดยเฉพาะขณะเดินทางเพื่อสืบพันธุ์ คนไทยรู้จักชื่อปลาค็อดมานาน คือ น้ำมันตับปลาปลาค็อด. |
คีรีบูน | น. ชื่อนกขนาดเล็กหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Fringillidae เป็นนกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ปากสั้นหนาแข็งแรง ลำตัวอ้วนป้อม คล้ายนกจาบปีกอ่อน ขนลำตัวมีหลายสี ขาค่อนข้างยาวบอบบาง กินเมล็ดพืช ถิ่นกำเนิดส่วนใหญ่อยู่ในเขตอบอุ่น เช่น ทวีปยุโรป ตอนเหนือของทวีปเอเชีย นิยมเลี้ยงในกรง ร้องเสียงไพเราะ เช่น ชนิดสีเหลือง [ Serinus pusillus (Pallas) ]. |
งวง ๒ | น. ชื่อไก่ขนาดใหญ่ชนิด Meleagris gallopavo Linn. ในวงศ์ Meleagrididae ปากสั้นเรียวบาง หัวสีฟ้า หัวและคอเปลือยมีหนังตะปุ่มตะป่ำ ตัวผู้บริเวณหน้าผากเหนือจะงอยปากบนมีหนังสีแดงอมส้มห้อยยาวคล้ายงวงช้าง ยืดหดได้ ขนลำตัวสีเขียวอมน้ำเงินแซมด้วยสีเหลืองทอง ตัวเมียหนังที่ห้อยอยู่บริเวณหน้าผากเล็กและสั้นกว่าตัวผู้ ขนลำตัวสีน้ำตาลเรียงกันคล้ายเกล็ดปลา กินเมล็ดพืช ใบไม้ และสัตว์เล็ก ๆ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ. |
จิงโจ้ ๑ | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในวงศ์ Macropodidae ขาคู่หน้าสั้น คู่หลังยาวและแข็งแรง ใช้กระโดดได้ไกล ๆ หางยาวและแข็งแรงใช้เป็นอวัยวะช่วยในการทรงตัว ตัวเมียออกลูกเป็นตัว ไม่มีรก มีถุงที่หน้าท้องสำหรับใส่ลูก มีหลายชนิด เช่น ชนิด Macropus rufus (Desmarest) มีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลีย. |
ชิมแปนซี | น. ชื่อลิงไม่มีหางในวงศ์ Pongidae ขนสีดำหรือน้ำตาลดำ บริเวณใกล้ก้นมีขนสีขาว หน้า ใบ หู ก้น ฝ่ามือ และฝ่าตีนไม่มีขน แขนและขายาวเกือบเท่ากัน มี ๒ ชนิด คือ ชนิด Pan troglodytes (Blumenbach) และชิมแปนซีแคระ [ P. paniscus (Schwarz) ] ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา อยู่รวมกันเป็นฝูง สามารถนำมาฝึกหัดให้เลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์ได้. |
ดาว ๓ | น. ชื่อกวางชนิด Axis axis (Erxleben) ในวงศ์ Cervidae เป็นกวางขนาดกลาง ขนละเอียดอ่อนและนุ่มกว่ากวางป่า สีนํ้าตาลหรือน้ำตาลอมเหลืองมีจุดสีขาวกระจายทั่วตัว อยู่รวมกันเป็นฝูง กินพืช มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและศรีลังกา. |
ต๊อก ๒ | น. ชื่อนกขนาดกลางชนิด Numida meleagris (Linn.) ในวงศ์ Numididae ตัวสีเทาลายขาว เหนียงสีแดง กินเมล็ดพืชและสัตว์ขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา, ไก่ต๊อก ก็เรียก. |
ตะเภา ๓ | น. ชื่อหนูชนิด Cavia porcellus (Linn.) ในวงศ์ Caviidae ลำตัวอ้วนป้อม ขนปุย หางสั้น มีหลายสี เช่น ขาว นํ้าตาล ดำ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเปรู มักใช้ในการทดลองทางการแพทย์. |
โนรี ๑ | น. ชื่อนกปากขอขนาดเล็กหลายชนิด ในวงศ์ Psittacidae ตัวมีสีสันสวยงาม เช่น สีแดงสดหรือเลือดหมู นํ้าเงิน ม่วง เขียว ปีกสีเขียวหรือเหลือง หางสั้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหมู่เกาะนิวกินี อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มีหลายชนิด เช่น ชนิด Lorius chlorocercus Gould, L. lorry (Linn.), L. garrulus (Linn). |
เป็ดเทศ | น. ชื่อเป็ดขนาดใหญ่ชนิด Cairina moschata (Linn.) วงศ์ย่อย Anatinae ในวงศ์ Anatidae เหนือขากรรไกรบนมีติ่งเนื้อสีแดงคล้ายเนื้องอกติดอยู่ ตัวมีหลายสี มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง. |
ม้าลาย | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในสกุล Equus วงศ์ Equidae รูปร่างคล้ายม้าแต่มีลายสีดำและสีขาวพาดขวางลำตัวตัดกันเห็นได้ชัดเจน จมูกดำ ขนแผงคอสั้น ใบหูและตาโต กีบเท้าเป็นกีบเดี่ยวกลมเล็ก ขนหางยาวเป็นพวงเฉพาะตอนครึ่งปลายของหาง ส่วนโคนหางมีขนสั้น อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามทุ่งหญ้า ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา มีหลายชนิด เช่น ชนิด E. grevyi (Oustalet) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ชนิด E. burchelli (Gray) เป็นชนิดที่นิยมนำมาเลี้ยงตามสวนสัตว์ทั่ว ๆ ไป. |
ยีราฟ | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิด Giraffa camelopardalis (Linn.) ในวงศ์ Giraffidae เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องกีบคู่ คอยาวมาก มีเขา ๑ คู่ ซึ่งมีหนังและขนคลุม ลำตัวลายมีสีต่าง ๆ กัน โดยมากเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือน้ำตาลเข้มลักษณะเป็นดอกหรือเป็นตาราง ปลายหางเป็นพู่ อยู่รวมกันเป็นฝูง มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา. |
ยูงอินเดีย | น. ชื่อนกขนาดใหญ่ชนิด Pavo cristatus Linn. ในวงศ์ Phasianidae ลักษณะทั่วไปคล้ายนกยูงไทย แต่หงอนขนบนหัวแผ่เป็นรูปพัด หนังข้างแก้มสีขาว ขนส่วนคอและอกด้านบนสีน้ำเงิน กินเมล็ดพืช แมลง และสัตว์ขนาดเล็ก เป็นนกที่นำเข้ามาในประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย. |
ลา ๑ | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในวงศ์ Equidae รูปร่างคล้ายม้าแต่ตัวเล็กกว่า หูยาว ปลายหางเป็นพู่ ขนแผงคอสั้นตั้งตรง ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาลำตัวสีเทา เช่น ชนิด Equus asinus (Linn.) และทวีปเอเชียลำตัวสีเหลืองเข้มจนถึงสีน้ำตาลอมแดง เช่น ชนิด E. hemionus (Pallas) ที่นิยมนำมาเลี้ยง เช่น ชนิดย่อย E.a. asinus (Linn.) |
สมัน | (สะหฺมัน) น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Cervus schomburgki (Blyth) ในวงศ์ Cervidae เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ขนาดเล็กกว่ากวางป่า เขาสวยงามแตกแขนงมากกว่ากวางชนิดอื่น ขนสีนํ้าตาล หางสั้น มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เป็นสัตว์ป่าสงวน ซึ่งสูญพันธุ์แล้ว, เนื้อสมัน ก็เรียก. |
สิงโต ๒ | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Panthera leo (Linn.) ในวงศ์ Felidae รูปร่างคล้ายแมวแต่มีขนาดไล่เลี่ยกับเสือโคร่ง ตัวสีนํ้าตาล ไม่มีลาย ขนปลายหางเป็นพู่ ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาว ตัวเมียไม่มี อาศัยอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง ตัวเมียมักทำหน้าที่ล่าเหยื่อ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและประเทศอินเดีย สิงโตเอเชียมีขนาดเล็กกว่าสิงโตแอฟริกาเล็กน้อย. |
หงส์ ๒ | (หง) น. ชื่อนกจำพวกเป็ดขนาดใหญ่หลายชนิด วงศ์ย่อย Cygninae ในวงศ์ Anatidae คอยาว เป็นนกที่นำเข้ามาในประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป อเมริกา และตอนเหนือของทวีปเอเชีย เช่น หงส์ขาว [ Cygnus olor (Gmelin) ] หงส์ดำ [ C. atratus (Latham) ] หงส์คอดำ [ C. melanocorypha (Molina) ]. |
หงส์หยก | น. ชื่อนกปากขอขนาดเล็กชนิด Melopsittacus undulatus (Shaw) ในวงศ์ Psittacidae ตัวมีหลายสี เช่น เขียว เหลือง ฟ้า ขาว กินเมล็ดพืช เป็นนกที่นำเข้ามาในประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลีย. |
หนองแซง | (หฺนอง–) น. ชื่อมะม่วงพันธุ์หนึ่งของชนิด Mangifera indicaL. รสมัน มีถิ่นกำเนิดจากอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี. |
หมอเทศ | น. ชื่อปลาน้ำจืดชนิด Oreochromis mossambicus (Peters) ในวงศ์ Cichlidae ลักษณะคล้ายปลานิล คือ ลำตัวป้อม แบนข้าง แนวสันหลังโค้งมากกว่าแนวสันท้อง ลำตัวและครีบมีสีเทาปนดำแต่จางลงจนเป็นสีน้ำตาลที่ด้านข้างและอมเหลืองที่ท้อง ตัวผู้มีสีเข้มกว่าและโตกว่าตัวเมียและมีพฤติกรรมในการทำรังเป็นหลุมคล้ายท้องกระทะที่พื้นท้องน้ำ ตัวเมียทำหน้าที่ฟักไข่ที่ผสมแล้วและดูแลตัวอ่อนโดยการอมไข่ไว้ในช่องปาก มีประวัติของถิ่นกำเนิดอยู่ในทะเลสาบทวีปแอฟริกา นำเข้ามาเลี้ยงเป็นอาหารจนแพร่หลาย อยู่ในน้ำกร่อยได้ ขนาดยาวได้ถึง ๓๖ เซนติเมตร. |
หมาป่า | น. ชื่อหมาในวงศ์ Canidae มีถิ่นกำเนิดเกือบทั่วทุกภูมิภาคของโลก ขนลำตัวมีสีต่าง ๆ เช่น นํ้าตาลเทา เทาปนแดง ฟันและเขี้ยวคมมาก นิสัยดุร้าย อาศัยอยู่ทั้งป่าโปร่งหรือป่าทึบ ส่วนใหญ่หากินเป็นฝูง กินเนื้อสัตว์ มีหลายชนิด เช่น ชนิด Canis vulpes (Linn.) มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียกลาง, ชนิด Chrysocyon brachyurus (Illiger) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้, ชนิด Canis lupus (Linn.) มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป, ชนิด Fennecus zerda (Zimmermann) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา, หมาจิ้งจอก (Canis aureusLinn.) และหมาใน [ Cuon alpinus (Pallas) ] มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย. |
หางนกยูง ๒ | น. ชื่อปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่ออกลูกเป็นตัว ชนิด Poecilia reticulata Peters ในวงศ์ Poeciliidae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ นำเข้ามาเลี้ยงและขยายพันธุ์เป็นปลาสวยงาม ลำตัวยาว แบนข้าง คอดหางใหญ่ ปากเล็กเชิดขึ้น ตาโต ตัวผู้มีขนาดโตได้ยาวเพียง ๓ เซนติเมตร ส่วนตัวเมียยาวได้ถึง ๖ เซนติเมตร, กินยุง ก็เรียก. |
อีมู ๑ | น. ชื่อนกขนาดใหญ่ชนิด Dromaius novaehollandiae (Latham) ในวงศ์ Dromaiidae ลำตัวสีเทาอมดำ สูงประมาณ ๕ ฟุต ปีกเล็กมาก บินไม่ได้ มีนิ้วตีน ๓ นิ้ว เล็บแหลมคมใช้ในการต่อสู้ เป็นนกที่นำเข้ามาในประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปออสเตรเลีย. |
อุรังอุตัง | น. ชื่อลิงขนาดใหญ่ชนิด Pongo pygmaeus (Linn.) ในวงศ์ Pongidae รูปร่างคล้ายคน ขนลำตัวยาวสีนํ้าตาลแดง แขนยาว ขาสั้นและค่อนข้างเล็ก ใบหูเล็กมาก ตัวผู้มีถุงลมขนาดใหญ่ตรงคอหอยและส่วนแก้มจะขยายออกทางด้านข้าง นิ้วตีนนิ้วแรกไม่มีเล็บ อาศัยอยู่บนต้นไม้ กินผลไม้ ยอดและหน่อของต้นไม้ มี ๒ พันธุ์ย่อย คือ พันธุ์สุมาตรา ( P. p. abeliLesson) และพันธุ์บอร์เนียว [ P. p. pygmaeus (Linn.) ] มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวเท่านั้น. |
ฮิปโปโปเตมัส | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Hippopotamus amphibius Linn. ในวงศ์ Hippopotamidae หนังหนาสีนํ้าตาล มีขนนิ่มกระจายห่าง ๆ ริมฝีปากหนามีขนแข็งยาว ฟันหน้าและเขี้ยวยาวมาก จมูก หู และตาอยู่ตอนบนของหัวเพื่อช่วยในการมองและหายใจขณะอยู่ในน้ำได้ดี หางแบน หูและปลายหางด้านข้างมีขนแข็งยาว เหงื่อสีแดงเรื่อ ๆ หนักประมาณ ๒, ๐๐๐ กิโลกรัม ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำมากกว่าบนบก ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา. |
ฮิปโปโปเตมัสแคระ | น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Choeropsis liberiensis (Morton) ในวงศ์ Hippopo-tamidae ลักษณะคล้ายฮิปโปโปเตมัส ยกเว้นมีจมูก หู และตาอยู่ด้านข้างของหัว เหงื่อใส ตัวเล็กกว่า หนักประมาณ ๒๐๐ กิโลกรัม นิสัยและถิ่นกำเนิดเช่นเดียวกับฮิปโปโปเตมัส. |