พราหมณะ | (พฺรามมะนะ) น. ชื่อคัมภีร์ศาสนาประเภทหนึ่งในยุคพระเวทของอินเดียโบราณ มีหลายคัมภีร์ด้วยกัน ส่วนใหญ่แต่งร้อยแก้ว ว่าด้วยการประกอบพิธีกรรม มีเรื่องราวของเทพต่าง ๆ ประกอบ. |
เวท, เวท- | ชื่อคัมภีร์ภาษาสันสกฤตโบราณซึ่งเป็นพื้นฐานของศาสนาพราหมณ์ยุคแรก มี ๔ คัมภีร์ ได้แก่ ๑. ฤคเวท ว่าด้วยบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย ตอนท้ายกล่าวถึงการสร้างโลก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบความเชื่อของชาวอินเดีย ๒. ยชุรเวท ว่าด้วยรายละเอียดการประกอบยัญพิธีและลำดับมนตร์ที่นำมาจากคัมภีร์ฤคเวทเพื่อสวดในขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธี ๓. สามเวท ว่าด้วยบทขับที่คัดเลือกมาจากประมาณหนึ่งในหกของฤคเวท และใช้เฉพาะในพิธีที่บูชาด้วยน้ำโสม ๔. อถรรพเวท หรือ อาถรรพเวท เป็นเวทมนตร์คาถาเพื่อให้เกิดผลดีแก่ฝ่ายตนหรือผลร้ายแก่ฝ่ายศัตรู ตลอดจนการบันดาลสิ่งที่เป็นมงคลหรืออัปมงคล การทำเสน่ห์ การรักษาโรค และอื่น ๆ สามคัมภีร์แรกเรียกว่า ไตรเวท หรือ ไตรเพท ต่อมารับอถรรพเวทหรืออาถรรพเวทเข้ามารวมเป็นสี่คัมภีร์เรียกว่า จตุรเวท หรือ จตุรเพท, เรียกยุคแรกของศาสนาพราหมณ์จนถึงประมาณสมัยพุทธกาลว่า ยุคพระเวท มีวรรณกรรมหลักประกอบด้วยคัมภีร์พระเวท คัมภีร์พราหมณะ คัมภีร์อารัณยกะและคัมภีร์อุปนิษัทรุ่นแรก. |
อารัณยกะ ๒ | (-รันยะกะ) น. ชื่อคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์คู่กับคัมภีร์พราหมณะ สำหรับผู้ที่สละทางโลกเข้ามาปฏิบัติธรรมในป่า ลักษณะเนื้อหาไม่แตกต่างกับคัมภีร์พราหมณะมากนัก. |