สัมผัสใน | น. สัมผัสที่อยู่ภายในวรรคเพื่อเพิ่มเสียงไพเราะ มีได้ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร เช่น ถึงโคกฆ้องหนองสะพานบ้านกะเหรี่ยง เห็นโรงเรียงไร่ฝ้ายทั้งซ้ายขวา (ขุนช้างขุนแผน), ในโคลงหมายรวมถึงสัมผัสสระและสัมผัสอักษรที่อยู่ระหว่างวรรคในบาทเดียวกันด้วย คือ คำสุดท้ายของวรรคแรกสัมผัสกับคำแรกของวรรคหลัง เช่น อ้าศรีเสาวภาคย์เพี้ยง เพ็ญแข (ตะเลงพ่าย). |
โคราช | น. ชื่อเพลงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวโคราชที่ว่าแก้กันเป็นทำนองตีฝีปากโต้คารมกันบ้าง เกี้ยวพาราสีกันบ้าง คล้ายเพลงฉ่อย วรรคหนึ่งใช้คำตั้งแต่ ๔ ถึง ๗ คำ ๓ คำกลอนเป็นบทหนึ่ง ความไพเราะอยู่ที่สัมผัสในการเล่นคำเล่นความให้สละสลวย บาทสุดท้ายจะเอื้อนเสียงในเวลาร้อง. |
ตรีพิธพรรณ | ชื่อโคลง ๔ ประเภทหนึ่งที่เลื่อนคำรับสัมผัสในบาทที่ ๒ จากคำที่ ๕ มาเป็นคำที่ ๓ ส่วนข้อบังคับอื่น ๆ เหมือนโคลงสี่สุภาพทุกประการ เช่น ข้าขอประณตน้อม กายวจี จิตนา ต่อพระตรีไตรรัตน์ โรจน์เรื้อง เป็นประทีปส่องศรี โลกชัชวาลนา กำจัดมืดมนธ์เปลื้อง สัตว์พ้นสงสาร (หลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร, ในจินดามณีเรียกตรีเพชรทัณฑี). |
ตรีเพชรทัณฑี | (ตฺรีเพ็ดทันที) น. ชื่อโคลงชนิดหนึ่งที่เลื่อนคำรับสัมผัสในบาทที่ ๒ จากคำที่ ๕ มาเป็นคำที่ ๓ ส่วนข้อบังคับอื่น ๆ เหมือนโคลงสี่สุภาพทุกประการ เช่น ปางนั้นสองราชไท้ ดาบศ สาพิมตไปมา กล่าวแก้ว ประทานราชเอารส สองราช เวนแต่ชูชกแล้ว จึ่งไท้ชมทาน (จินดามณี). |
บังคับสัมผัส | น. กฎเกณฑ์ของการประพันธ์ที่บัญญัติให้ใช้คำคล้องจองกัน มีหลายชนิด คือ สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสสระ สัมผัสอักษร. |
รับสัมผัส | ก. เรียกคำใดคำหนึ่งของวรรคหลังแห่งคำประพันธ์ที่คล้องจองกับคำส่งสัมผัสในวรรคหน้า ว่า คำรับสัมผัส. |
ร่ายยาว | น. ชื่อร่ายชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายร่ายโบราณ ใช้แต่งบทเทศน์ บทสวด บทกล่อมลูก เป็นต้น ไม่จำกัดวรรคและคำ แต่ละวรรคไม่ควรน้อยกว่า ๕ คำ นิยมส่งสัมผัสส่งท้ายวรรคหน้า และรับสัมผัสในวรรคถัดไปที่คำใดก็ได้ สัมผัสเชื่อมกันไปเช่นนี้จนจบ. |