ขับไม้ | น. ชื่อเรียกวงดนตรีไทย ประกอบด้วย คนขับร้องลำนำ คนสีซอสามสาย คนไกวบัณเฑาะว์ให้จังหวะ. |
เครื่องคู่ | น. ลักษณะการผสมของวงดนตรีไทย โดยมีเครื่องดนตรีประเภทเดียวกัน ๒ ชิ้น บรรเลงร่วมอยู่ในวงเดียวกัน เช่น วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่มีปี่ในกับปี่นอกผสมคู่กัน. |
จะเข้ ๑ | น. เครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายตัวจระเข้ ตัวเป็นโพรง วางยาวไปกับพื้น มีสาย ๓ สาย มีนม ๑๑ นมเป็นฐานรองรับสายเมื่อกดนิ้วขณะดีดทำให้มีเสียงสูงตํ่า มีขา ๕ ขา ใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงเครื่องสายและมโหรี, ลักษณนามเรียก ตัว. |
ตระการ | (ตฺระ-) ว. งาม เช่น ป่าดงพงหลวงตระการ เซราะเซราเขาธาร ชรลัดชรล่องดองไพร (อนิรุทธ์), น้ำพุพุ่งซ่า ไหลฉ่าฉาดฉาน เห็นตระการ (สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย เพลงเถา) |
เถา | เพลงซึ่งบรรเลงด้วยวงดนตรีไทย ใน ๑ เพลงมีอัตราลดหลั่นเรียงลงไปเป็นลำดับเป็นอัตรา ๓ ชั้น อัตรา ๒ ชั้น และอัตราชั้นเดียว หรืออัตรา ๒ ชั้น อัตราชั้นเดียว และอัตราครึ่งชั้น มีความสัมพันธ์โดยทำนองหลัก ลูกฆ้องลงจังหวะเป็นเสียงเดียวกัน และบรรเลงติดต่อกันไปจนจบ เช่น เพลงแขกมอญ เถา. |
บัวลอย ๒ | น. ชื่อวงดนตรีไทยใช้บรรเลงในงานศพ |
ปี่พาทย์ | น. ชื่อเรียกการผสมวงดนตรีไทย มีขนาดวงอยู่ ๓ ขนาด คือ ปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์เครื่องใหญ่, เดิมเรียกว่า พิณพาทย์. |
พิณพาทย์ | น. ชื่อเรียกวงดนตรีไทยโบราณ ประกอบด้วยเครื่องดีด คือ พิณ ผสมกับเครื่องตี ได้แก่ ระนาดและฆ้องวงชนิดต่าง ๆ เป็นหลัก และเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัด กลองแขก และกลองสองหน้า ต่อมาเปลี่ยนพิณ เป็น ปี่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ปี่พาทย์. |
เพียงออ | ระดับเสียงของดนตรีไทยหรือทางเพลง เรียกว่า ทางเพียงออ. |
มโหรี ๑ | น. วงดนตรี ๑ ใน ๓ วงหลักของดนตรีไทย คือ ปี่พาทย์ เครื่องสาย และมโหรี ใช้เครื่องดนตรีครบทั้งดีด สี ตี เป่า (ขลุ่ย) และขับร้อง ระดับเสียงที่ใช้สูงกว่าระดับเสียงวงปี่พาทย์. |
วงเครื่องสาย | น. ชื่อวงดนตรีไทยประเภทหนึ่ง ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ใช้สายเป็นต้นกำเนิดของเสียง เช่น ซอ จะเข้ คุมจังหวะด้วยโทน ฉิ่ง และรำมะนา. |
วงมโหรี | น. ชื่อวงดนตรีไทยประเภทหนึ่ง ประกอบด้วยเครื่องดนตรีผสมทั้งดีด สี ตี เป่า ใช้บรรเลงเพื่อขับกล่อมมี ๕ แบบ คือ ๑. วงมโหรีเครื่องสี่ ๒. วงมโหรีเครื่องหก ๓. วงมโหรีเครื่องเดี่ยว ๔. วงมโหรีเครื่องคู่ ๕. วงมโหรีเครื่องใหญ่ |
สามชั้น | จังหวะของดนตรีไทยที่มีระดับช้า คือช้ากว่าสองชั้นเท่าตัว หรือช้ากว่าชั้นเดียว ๔ เท่า เรียกเต็มว่า อัตราสามชั้น, ชื่ออัตราจังหวะหน้าทับและทำนองเพลงประเภทหนึ่ง มีความยาวเป็น ๒ เท่า ของอัตราสองชั้น. |