กฎหมายตราสามดวง | น. ประมวลกฎหมายโบราณของไทยซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชำระและปรับปรุงแก้ไขตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อทำเสร็จแล้วได้ประทับดวงตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ไว้เป็นสำคัญ จึงเรียกว่า กฎหมายตราสามดวง. |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ | น. สิ่งซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบ เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการหรือส่วนพระองค์, เรียกเป็นสามัญว่า ตรา, ปัจจุบันหมายความรวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน และเหรียญที่ระลึกที่พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในโอกาสต่าง ๆ และที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุคคลประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ทางราชการกำหนด. |
โครงการตามพระราชประสงค์ | น. โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้เกิดขึ้น โดยทรงศึกษาทดลองปฏิบัติด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อทรงศึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญและทดลองจนได้ผลสรุปที่ดี และทรงมั่นพระราชหฤทัยว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รัฐบาลหรือผู้สนใจรับไปดำเนินงานต่อ แบ่งเป็นโครงการทดลองในเขตพระราชฐาน และโครงการทดลองนอกเขตพระราชฐาน. |
จางวาง | เจ้าเมืองที่พ้นตำแหน่งแล้ว ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมือง เรียกว่า จางวางเมือง. |
ช้างเผือก ๒ | น. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลหนึ่ง มีที่มาจากตราดาราช้างเผือกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลช้างเผือก. |
ถึงแก่พิราลัย | ก. ตาย (ใช้แก่เจ้าประเทศราช สมเด็จเจ้าพระยา หรือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นการเฉพาะ), ใช้ว่า พิราลัย ก็มี. |
ท้าว ๑ | ตำแหน่งหญิงอาวุโส ซึ่งเป็นเจ้าจอม เจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อนหรือหญิงราชนิกุล ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯ ตั้งไว้ในตำแหน่งสำหรับดูแลราชกิจฝ่ายในพระราชวัง เช่น ท้าวทรงกันดาล ท้าวสมศักดิ์, (ปาก) คุณท้าว นางท้าว |
ทิวงคต | (ทิวงคด) ก. ไปสู่สวรรค์, ตาย, (ใช้แก่สมเด็จพระยุพราช หรือเจ้าฟ้าซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเฉลิมพระยศเป็นพิเศษ). |
เทศาภิบาล | การปกครองหัวเมืองที่จัดเป็นมณฑล โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำหน้าที่ปกครองในแต่ละมณฑล เรียกว่า ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล เว้นแต่มณฑลชายแดนบางมณฑล เรียกว่า ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑล ภายหลังเรียกว่า สมุหเทศาภิบาลมณฑล หรือสมุหเทศาภิบาล. |
ธงบรมราชวงศ์น้อย | น. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี แบ่งตามความยาวออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงบรมราชวงศ์ใหญ่แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีแดงแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของธงตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น ๘ เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงบรมราชวงศ์ใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ. |
ธงมหาราชน้อย | น. ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ แบ่งตามความยาวออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น ๘ เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ. |
ธงเยาวราชน้อย | น. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช แบ่งความยาวออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น ๘ เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ. |
ธงราชินีน้อย | น. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชินีใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ. |
นางท้าว | น. ตำแหน่งหญิงอาวุโส ซึ่งเป็นเจ้าจอม เจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อน หรือหญิงราชนิกุล ซึ่งพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ตั้งไว้ในตำแหน่งสำหรับดูแลราชกิจฝ่ายในพระราชวัง |
นางสนองพระโอษฐ์ | น. คุณพนักงานหญิงที่แต่งงานแล้ว มีหน้าที่รับพระราชเสาวนีย์ไปปฏิบัติหรือเชิญพระราชเสาวนีย์ไปติดต่อข้อราชการตามพระราชประสงค์ของพระราชินี เป็นตำแหน่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง. |
ไปยาล | น. เครื่องหมายละคำ รูปดังนี้ ฯ เรียกว่า ไปยาลน้อย สำหรับละคำที่ประกอบคำหน้า เช่น กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ, รูปดังนี้ ฯลฯ หรือ ฯเปฯ เรียกว่า ไปยาลใหญ่ สำหรับละข้อความข้างท้าย เช่น ในป่ามีช้าง เสือ ลิง ค่าง ฯลฯ อ่านว่า “ละ”, หรือละข้อความในระหว่าง เช่น เพลงสรรเสริญพระบารมีว่า ข้าวรพุทธเจ้า ฯลฯ ดุจถวายชัย ชโย อ่านว่า “ละถึง”, เปยยาล ก็เรียก. |
ฝนหลวง | น. ฝนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำขึ้นเพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง. |
พระราชพิธี | น. พิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดไว้ตามราชประเพณี เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี. |
พระอภิบาล | น. ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดูแลพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าลูกหลวง. |
พัดยศ | น. พัดพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรมได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป หรือแก่พระภิกษุที่มีความรู้ ความสามารถในการศึกษา การบริหาร หรือการเผยแผ่พระศาสนา เป็นต้น เป็นเครื่องหมายแสดงลำดับชั้นแห่งสมณศักดิ์ มีรูปและชื่อต่าง ๆ กัน คือ พัดหน้านาง พัดพุดตาน พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์. |
พานพระขันหมาก, พานพระขันหมากเสวย | น. พานใส่หมากพลูเครื่องเสวย เป็นเครื่องราชูปโภค ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ ลักษณะเป็นพานซ้อนกัน ๒ ชั้น รูปทรงคล้ายพานแว่นฟ้า ทำด้วยทองคำ จำหลักลวดลายลงยาสี จะเรียกว่า พานพระศรี พานพระขันหมาก หรือพานพระขันหมากเสวย ซึ่งสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียก, ในพานประกอบด้วย ตลับพู่ใส่ขี้ผึ้ง ๑ มังสี ๒ สำหรับใส่หมากเจียน ๑ หมากทั้งลูก ๑ ซองพลู ๒ สำหรับใส่พลูจีบ ๑ ตลับใส่กระวาน ๑ ตลับใส่ยาฝอย ๑ และพระแสงกรรบิด ๑. |
พานพระศรี | น. พานใส่หมากพลูเครื่องเสวยของพระมหากษัตริย์, พานใส่หมากพลูเครื่องเสวยซึ่งเป็นเครื่องราชูปโภค ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ หรือเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายในชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า จนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า มีลักษณะแตกต่างกันไปตามชั้นยศ สำหรับเจ้านายนั้นจะเรียกว่า พานหมากเสวย ก็มี ซึ่งสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียก. |
พานหมากเสวย | น. พานใส่หมากพลูเครื่องเสวยของเจ้านาย, พานใส่หมากพลูเครื่องเสวยซึ่งเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของเจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายในชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า จนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า มีลักษณะแตกต่างกันไปตามชั้นยศ จะเรียกว่า พานพระศรี ก็มี ซึ่งสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียก. |
พิราลัย | ก. ตาย (เดิมใช้แก่เจ้าประเทศราช สมเด็จเจ้าพระยา ภายหลังใช้แก่ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นการเฉพาะราย), ใช้ว่า ถึงแก่พิราลัย. |
ภาษาแบบแผน | น. ภาษาที่ถือเป็นแบบฉบับที่จะต้องใช้เป็นแบบเดียวกันในโอกาสอย่างเดียวกัน เช่น คำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นต้นว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม...” และลงท้ายว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า...”, ภาษาที่ใช้เป็นทางการในโอกาสสำคัญ หรือใช้แก่บุคคลสำคัญ หรือบุคคลสำคัญเป็นผู้ใช้ เช่น คำประกาศเกียรติคุณในการประสาทปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีในวันขึ้นปีใหม่, ภาษาระดับพิธีการ ก็เรียก. |
ภูษาโยง | น. แถบผ้าที่โยงจากปากโกศหรือหีบศพของหลวงสำหรับคลี่ทอดไปยังพระสงฆ์เมื่อทอดผ้าสดับปกรณ์, ใช้ว่า พระภูษาโยง แก่พระมหากษัตริย์จนถึงพระองค์เจ้า และใช้ว่า ภูษาโยง แก่หม่อมเจ้า รวมทั้งผู้ได้รับพระราชทานเกียรติยศตามเกณฑ์ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ ส่วนสามัญชนทั่วไปใช้ว่า ผ้าโยง. |
ยศ | (ยด) น. ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป |
ยศ | เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกำหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. |
ยุพราช | น. รัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ. |
ราชินีนาถ | น. พระราชินีที่ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ, พระเจ้าแผ่นดินที่เป็นผู้หญิง เช่น พระราชินีนาถวิกตอเรีย. |
เรือพระที่นั่งชัย | น. เรือพระที่นั่ง เช่น เรือสุพรรณหงส์ เรืออนันตนาคราช เรือเอนกชาติภุชงค์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระชัยวัฒน์ประดิษฐานขึ้นเป็นประธานบนบุษบกกลางลำ เป็นเรือนำกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชสงคราม หรือการพระราชพิธีสำคัญ, เรียกย่อว่า เรือชัย. |
วัดหลวง | น. พระอารามหลวง, วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีเป็นพระอารามหลวง. |
สวรรคต, เสด็จสวรรคต | (สะหฺวันคด, สะเด็ด-) ก. ไปสู่สวรรค์, ตาย, (ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี หรือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นการเฉพาะ เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร). |
สุพรรณบัฏ | แผ่นทองคำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จารึกราชทินนามของสมเด็จพระราชาคณะ ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยา และขุนนางชั้นเจ้าพระยาบางคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ |
เสด็จสวรรคต, สวรรคต | (-สะหฺวันคด) ก. ไปสู่สวรรค์, ตาย, (ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรม-ราชินี หรือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นการเฉพาะ เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าบรม-วงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร). |