วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ | น. ชื่อวงปี่พาทย์ประสมชนิดหนึ่งที่นำเครื่องดนตรีที่มีเสียงแหลมออกไปทำให้เกิดเสียงทุ้มนุ่มนวล เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕. |
กระแต ๑ | น. ชื่อฆ้องวงขนาดเล็ก ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ลักษณะร้านฆ้องเป็นรูปเว้าหงายขึ้น คล้ายฆ้องมอญแต่ปลายไม่สูง วงหนึ่งมีลูกฆ้อง ๑๑ ลูก, ฆ้องขนาดเล็กลูกเดียวแขวนกับไม้ ใช้มือหิ้วหรือแขวนไม้กับไม้ขาหยั่ง ใช้ตีเป็นสัญญาณในการอยู่เวรยามหรือแจ้งข่าวสารต่าง ๆ, ทั้ง ๒ ชนิดเรียกว่า ฆ้องกระแต. |
กลองชาตรี | น. ชื่อกลองชนิดหนึ่ง มี ๒ หน้า รูปร่างลักษณะคล้ายกลองทัดแต่เล็กกว่ามาก ตีด้วยไม้ ๒ อัน เช่นเดียวกับกลองทัด แต่วิธีการตี ลักษณะของไม้ตี และเสียงจะแตกต่างจากกลองทัด ใช้ร่วมในวงปี่พาทย์ในการแสดงละครชาตรีที่เรียกว่า ปี่พาทย์ชาตรี ใช้ในการบรรเลงเพลงชุดออกภาษาหรือสิบสองภาษา และใช้ประกอบการบรรเลงในเพลงทำนองตะลุง กลองชาตรีมักใช้บรรเลงคู่กับโทน เรียกว่า โทนชาตรี มีชื่อเรียกตามเสียงอีกอย่างหนึ่งว่า กลองตุ๊ก. |
กลองตะโพน | น. ชื่อกลองชนิดหนึ่ง ใช้ตะโพนไทย ๒ ลูก เสียงสูงต่ำต่างกัน ถอดเท้าออกแล้วนำมาตั้งเอาหน้าเท่งขึ้นตีอย่างกลองทัด นิยมใช้ตีแทนกลองทัดในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ หรือเพื่อให้เกิดเสียงนุ่มนวลเมื่อบรรเลงภายในห้องหรืออาคาร. |
กลองติ๋ง | น. ชื่อกลองชนิดหนึ่ง รูปร่างและการตีเหมือนกับกลองทัด แต่มีขนาดเล็กกว่าและเสียงสูงกว่า ใช้บรรเลงผสมวงปี่พาทย์รวมกับกลองทัดในการแสดงหนังใหญ่เท่านั้น. |
กลองทัด | น. ชื่อกลองชนิดหนึ่ง มีรูปทรงกระบอก ตรงกลางป่องออกเล็กน้อย ขึ้นหนัง ๒ หน้า มีหูเรียกว่า หูระวิง สำหรับร้อยไม้ขาหยั่ง ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ ชุดหนึ่งอาจมี ๒-๓ ใบ, ถ้าใช้ใบเดียวแขวนที่หอกลองในวัด เรียกว่า กลองเพล. |
กลองมลายู | น. ชื่อกลองชนิดหนึ่ง รูปร่างลักษณะอย่างเดียวกับกลองแขก แต่ตัวกลองสั้นและอ้วนกว่า สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง ขึ้นหนัง ๒ หน้าด้วยหนังวัว ตีด้วยไม้งอน ใช้บรรเลงในวงบัวลอยในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์นางหงส์. |
กลองสองหน้า | น. ชื่อกลองชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเปิงมาง แต่ขนาดใหญ่และยาวกว่า ใช้ใบเดียวตีกำกับจังหวะในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เสภา และกำกับการบรรเลงเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรีของวงปี่พาทย์. |
ขลุ่ยอู้ | น. ชื่อขลุ่ยชนิดหนึ่ง มีขนาดยาวและใหญ่กว่าขลุ่ยเพียงออ มีเสียงต่ำ ใช้เฉพาะในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์. |
เครื่องคู่ | น. ลักษณะการผสมของวงดนตรีไทย โดยมีเครื่องดนตรีประเภทเดียวกัน ๒ ชิ้น บรรเลงร่วมอยู่ในวงเดียวกัน เช่น วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่มีปี่ในกับปี่นอกผสมคู่กัน. |
ฆ้องโหม่ง | น. ฆ้องขนาดใหญ่รองลงมาจากฆ้องชัย มีเชือกร้อยรูทั้ง ๒ ที่ใบฉัตร แขวนห้อยในแนวดิ่งกับขาหยั่งหรือคานไม้ หัวไม้ที่ใช้ตีพันด้วยผ้าหรือเชือกให้เป็นปุ่มโตอ่อนนุ่ม เวลาตีจะมีเสียงดังโหม่ง ๆ ใช้ตีกำกับจังหวะในวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย วงมโหรี และวงเถิดเทิง, สมัยโบราณใช้ตีในเวลากลางวันเป็นสัญญาณบอกเวลา “โมง” คู่กับกลองที่ตีเป็นสัญญาณในเวลากลางคืนบอกเวลา “ทุ่ม”. |
ชาตรี ๒ | ชื่อเพลงที่มีคำนี้อยู่ คือ ชาตรีตะลุง ชาตรีใน โอ้ชาตรี ร่ายชาตรี, ชื่อวงปี่พาทย์ลักษณะหนึ่ง ประกอบด้วยโทน ปี่ตับ ฆ้องคู่ แกระ กลองชาตรี วงปี่พาทย์. |
ซออู้ | น. ชื่อซอชนิดหนึ่ง มีสาย ๒ สาย กะโหลกซอตัดจากกะโหลกมะพร้าว มีเสียงทุ้มกังวาน ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์. |
เดี่ยวรอบวง | ก. บรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรีประเภทดำเนินทำนอง เรียงตามลำดับหน้าที่ของเครื่องดนตรี เช่นในวงปี่พาทย์เรียงลำดับดังนี้ ปี่ ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดทุ้ม. |
ตะโพน | น. ชื่อกลองสองหน้าชนิดหนึ่ง หัวสอบท้ายสอบกลางป่อง มีขารอง ตีด้วยมือ ใช้บรรเลงกำกับจังหวะหน้าทับในวงปี่พาทย์. |
นางหงส์ | น. ชื่อวงปี่พาทย์ไทยที่ผสมวงอีกแบบหนึ่ง ประกอบด้วยปี่ชวาและกลองมลายู สำหรับบรรเลงในงานศพ |
ปี่กลาง | น. ปี่ชนิดหนึ่งที่ใช้ในวงปี่พาทย์ มีขนาดเล็กกว่าปี่ใน แต่ใหญ่กว่าปี่นอก บรรเลงประกอบการแสดงหนังใหญ่. |
ปี่นอก | น. ชื่อปี่ชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาปี่ ๔ ชนิดที่ใช้ในวงปี่พาทย์ คือ ปี่นอก ปี่นอกต่ำ ปี่กลาง และปี่ใน. |
ปี่นอกต่ำ | น. ชื่อปี่ชนิดหนึ่งที่ใช้ในวงปี่พาทย์ รูปร่างคล้ายปี่นอก แต่มีระดับเสียงต่ำกว่าปี่นอก. |
ปี่ใน | น. ชื่อปี่ชนิดหนึ่งที่ใช้ในวงปี่พาทย์ รูปร่างคล้ายปี่นอก เป็นปี่ขนาดใหญ่ที่สุด และมีเสียงต่ำสุด เป็นปี่ที่ใช้กันมากที่สุด. |
ปี่พาทย์เครื่องคู่ | น. วงปี่พาทย์ประกอบด้วย ปี่ใน ปี่นอก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง (ปัจจุบันนิยมใช้ปี่ในเพียงเลาเดียว). |
ปี่พาทย์เครื่องห้า | น. วงปี่พาทย์ประกอบด้วย ปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง. |
ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ | น. วงปี่พาทย์ประกอบด้วย ปี่ใน ปี่นอก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลองทัด และฉิ่ง, แต่บางทีก็มีฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และฆ้องโหม่งผสมด้วย (ปัจจุบันนิยมใช้แต่ปี่ใน). |
ปี่พาทย์นางหงส์ | น. วงปี่พาทย์ที่ใช้บรรเลงเฉพาะในงานอวมงคล เรียกชื่อตามเพลงซึ่งใช้เป็นหลักในการบรรเลง คือ เพลงเรื่องนางหงส์ อัตรา ๒ ชั้น การประสมเครื่องดนตรีเหมือนวงปี่พาทย์ธรรมดาประสมกับวงบัวลอย แต่ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนหรือกลองทัด. |
ปี่พาทย์มอญ | น. วงปี่พาทย์ที่นำเพลงและเครื่องดนตรีของมอญ ประกอบด้วย ปี่มอญ ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ และเปิงมางคอกมาบรรเลง มีเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง. |
ปี่มอญ | น. ชื่อปี่ชนิดหนึ่ง ใช้เป่าในวงปี่พาทย์มอญ มีขนาดใหญ่ ลักษณะเป็น ๒ ท่อน ตัวปี่หรือเลาปี่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งสอดอยู่ในลำโพงทำด้วยโลหะ ทรงปากบานออกคล้ายลำโพง แยกเป็นคนละส่วนกับเลาปี่ จึงมีเชือกผูกโยงท่อนบนลำโพงกับเลาปี่ท่อนบนไว้ด้วยกัน. |
เปิงมาง | น. ชื่อกลองชนิดหนึ่ง มีหนังขึง ๒ หน้า ตรงกลางป่องเล็กน้อย ยาวประมาณ ๕๔ เซนติเมตร ใช้บรรเลงร่วมกับตะโพนในวงปี่พาทย์ ใช้ตีนำกลองชนะในกระบวนเสด็จพยุหยาตรา, คนตีเปิงมางนำกลองชนะ เรียกว่า จ่ากลอง คู่กับคนเป่าปี่ซึ่งเรียกว่า จ่าปี่. |
เปิงมางคอก | น. ชุดกลองเปิงมางจำนวน ๗ ลูก เทียบเสียงสูงต่ำแขวนเรียงไว้ในคอก ใช้ในวงปี่พาทย์มอญ เพื่อตีรัวนำก่อนเมื่อขึ้นต้นบรรเลงปี่พาทย์มอญตีขัดสอดประสานกับตะโพนมอญ. |
มโหรี ๑ | น. วงดนตรี ๑ ใน ๓ วงหลักของดนตรีไทย คือ ปี่พาทย์ เครื่องสาย และมโหรี ใช้เครื่องดนตรีครบทั้งดีด สี ตี เป่า (ขลุ่ย) และขับร้อง ระดับเสียงที่ใช้สูงกว่าระดับเสียงวงปี่พาทย์. |
ระนาดเอกเหล็ก | น. ชื่อระนาดชนิดหนึ่ง รูปร่างเหมือนระนาดทองทุกประการ แต่ลูกระนาดทำด้วยเหล็ก ใช้บรรเลงผสมในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่. |
ละครดึกดำบรรพ์ | น. ละครแบบหนึ่ง ดำเนินเรื่องรวดเร็ว มีการตกแต่งฉากที่คล้ายของจริง ไม่มีบทบรรยายฉาก บรรยายกิริยาอาการของตัวละคร ตัวละครร้องและเจรจาบทของตนเอง และใช้ดนตรีที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ เรียกว่า วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เรื่องที่แสดง เช่น อิเหนา คาวี สังข์ศิลป์ชัย, ชื่อดึกดำบรรพ์มาจากชื่อโรงละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร). |