ความผิดอาญาแผ่นดิน | น. ความผิดอาญาที่ยอมความกันไม่ได้ และพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีได้แม้ผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์. |
กบฏ | เป็นฐานความผิดอาญา ที่เกี่ยวกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และการแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครอง. |
กรรโชก | (กัน-) น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น. |
กระทง ๑ | ลักษณนามของความผิดอาญาแต่ละกรรมหรือแต่ละครั้ง การกระทำความผิดแต่ละกรรมหรือแต่ละครั้งนั้นถือว่าเป็นกระทงความผิดกระทงหนึ่ง เช่น การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หลายครั้ง การลักทรัพย์แต่ละครั้งก็เป็นกระทงความผิดกระทงหนึ่ง ๆ |
ก่อการร้าย | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อบุคคล ต่อทรัพย์สินอันเป็นสาธารณะ หรือต่อทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ โดยผู้กระทำมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ. |
โกงเจ้าหนี้ | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ลูกหนี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ที่ตนจำนำไว้ หรือกระทำการบางอย่างที่ทำให้เจ้าหนี้เสียหายในการที่จะได้รับชำระหนี้ เช่น โอนทรัพย์ให้คนอื่นหรือแกล้งเป็นหนี้ที่ไม่เป็นความจริง. |
ข่มขืนกระทำชำเรา | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำ ชำเราบุคคลอื่น ไม่ว่าผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำจะเป็นชายหรือหญิง และจะเป็นคู่สมรสของตนหรือไม่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น. |
ข้อหา | คำกล่าวหาบุคคลว่าได้กระทำความผิดอาญา หรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลในทางแพ่ง. |
ฉ้อโกง | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำ กระทำโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ. |
ชิงทรัพย์ | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำ ลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป (๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น (๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ (๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ (๕) ให้พ้นจากการจับกุม. |
ซ่องโจร | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำ สมคบกันตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป. |
ดูหมิ่นซึ่งหน้า | น. เป็นฐานความผิดอาญาลหุโทษ ที่ผู้กระทำ ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา. |
ทำร้ายร่างกาย | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น. |
ทำให้แท้งลูก | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำทำให้ลูกในท้องของหญิงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง. |
ทำให้เสียทรัพย์ | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย. |
โทษทางอาญา | น. โทษที่ลงแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดไว้ ๕ สถาน ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน. |
นิรโทษกรรม | ในทางกฎหมายอาญา หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด. |
บุกรุก | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปรกติสุข |
ประหารชีวิต | น. โทษทางอาญาขั้นสูงสุดที่ลงแก่ผู้กระทำความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ ด้วยการทำให้ตายโดยวิธีฉีดยาหรือสารพิษ. |
ปล้นทรัพย์ | ก. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้ชิงทรัพย์ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไป เรียกว่า ความผิดฐานปล้นทรัพย์. |
เปิดเผยความลับ | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำเปิดเผยความลับของผู้อื่นหรือนำความลับของผู้อื่นไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลที่สาม. |
พรากเด็ก | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำพาเอาเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร. |
พรากผู้เยาว์ | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำพาเอาผู้เยาว์ที่มีอายุเกิน ๑๕ ปี แต่ยังไม่เกิน ๑๘ ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย. |
ยักยอก | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำ ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นมาเป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต. |
รับของโจร | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์. |
รีดเอาทรัพย์ | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น. |
ลักทรัพย์ | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต. |
วางเพลิงเผาทรัพย์ | น. เป็นฐานความผิดอาญาที่ผู้กระทำวางเพลิงเผาทรัพย์. |
วิ่งราวทรัพย์ | น. เป็นฐานความผิดอาญาที่ผู้กระทำลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า. |
หมิ่นประมาท | น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง. |
อนาจาร | เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น. |
อั้งยี่ | เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย. |