ขอพระราชทาน | ก. ขอสิ่งของ, ขออนุญาต, (ใช้กราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดิน). |
เกามาร | (-มาน) น. กุมาร เช่น กูจะขอพระราชทานเกามารท้งงสองพระองค์ (ม. คำหลวง กุมาร). |
ข้าพระ | น. คนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อรักษาวัดและปฏิบัติพระสงฆ์, ผู้ที่มูลนายยกให้เพื่อรักษาวัดและปฏิบัติพระสงฆ์. |
คุณ ๑, คุณ- | คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า, คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป |
คุณหญิง | น. คำนำหน้าชื่อสตรีที่สมรสแล้วและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน, ถ้ายังไม่ได้สมรส เรียกว่า คุณ, (โบ) คำนำหน้าชื่อสตรีที่เป็นภรรยาเอกของพระยา |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ | น. สิ่งซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบ เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการหรือส่วนพระองค์, เรียกเป็นสามัญว่า ตรา, ปัจจุบันหมายความรวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน และเหรียญที่ระลึกที่พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในโอกาสต่าง ๆ และที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุคคลประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ทางราชการกำหนด. |
เครื่องสุกำศพ | น. เครื่องมัดศพประกอบด้วยผ้าขาว ด้ายดิบ กระดาษฟาง เป็นต้น ใช้แก่ศพที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศประกอบศพตามระเบียบสำนักพระราชวัง. |
โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ | น. โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อเสนอและแนวทางให้หน่วยงานเอกชนรับไปดำเนินงานและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. |
โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ | น. โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์สำหรับจัดทำแปลงเกษตรผสมผสาน สนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อทดลองค้นคว้าหารูปแบบการประกอบอาชีพของชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และเป็นสถานที่ฝึกอบรมการเกษตรภาคปฏิบัติให้นักศึกษาและประชาชนที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ เช่น โครงการพัฒนาส่วนพระองค์เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ชุมพร อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร. |
โครงการหลวง | น. โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอาชีพทางเลือกใหม่แก่ชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ ซึ่งเดิมปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ให้หันมาปลูกไม้ดอก ไม้ผล พืชผักเมืองหนาว และเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อบริโภคและจำหน่าย สร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ทำให้ลดปัญหายาเสพติด ช่วยพิทักษ์รักษาป่าต้นน้ำ และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน. |
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ | น. โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวทางแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับพระราชดำริไปพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการร่วมกันดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ตามสภาพสังคมและภูมิประเทศ เดิมเรียกว่า โครงการตามพระราชดำริ มีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียกย่อว่า กปร. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประสานงานโครงการ. |
เงินจันทรภิม | น. เงินที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่โหรผู้ทำนายจันทรุปราคาได้ถูกต้อง เช่น เมื่อจันทรุปราคได้เงีนจันทรภิม (สามดวง). |
จันทรภิม | น. เรียกเงินที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่โหรผู้ทำนายจันทรุปราคาได้ถูกต้อง ว่า เงินจันทรภิม เช่น เมื่อจันทรุปราคได้เงีนจันทรภิม (สามดวง). |
เจ้าพนักงานภูษามาลา | น. ข้าราชการในราชสำนัก มีหน้าที่ถวายทรงพระเครื่องใหญ่ ถวายพระกลด ถวายสุกำ ทำสุกำ เปลื้องเครื่องสุกำพระบรมศพ พระศพ และเปลื้องเครื่องสุกำศพที่ได้รับพระราชทานโกศ เป็นต้น โบราณมีหน้าที่ถวายเครื่องต้นด้วย, ในกฎหมายตราสามดวง เรียกแยกเป็น พนักงานพระภูษา พนักงานพระมาลา. |
ไฉน ๒ | (ฉะไหฺน) น. ชื่อปี่ชนิดหนึ่ง มีรูปร่างเหมือนปี่ชวาแต่เล็กและสั้นกว่า ใช้เป่านำหมู่กลองชนะ สำหรับประโคมในงานพระราชทานเพลิงศพที่ได้รับพระราชทานโกศเป็นต้น คนเป่าปี่นำ เรียกว่า จ่าปี่, สรไน ก็ว่า, ลักษณนามว่า เลา. |
ดิ่ง | วัตถุมงคล สำหรับห้อยสายลูกประคำ มีลักษณะกลมเป็นพู ๆ โดยรอบคล้ายลูกมะยมซ้อนเรียงกัน ๓ ลูก จากลูกใหญ่ลงไปหาลูกเล็ก พระมหากษัตริย์ทรงใช้ เรียกว่า พระดิ่ง และอาจพระราชทานแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีความดีความชอบ. |
ดุษฎีมาลา | น. ชื่อเหรียญที่พระราชทานเฉพาะแก่ผู้ได้ใช้ศิลปวิทยาให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองถึงขนาด พระราชทานประกอบกับเข็มศิลปวิทยา. |
ดูร้าย | น. ดูว่าไม่ดี เช่น เมื่อแขกเมืองมาแลเบีกเข้าไปถวายบังคม บมิได้นุ่งห่มเสื้อสนอบซึ่งพระราชทานนั้น แลนุ่งห่มเสื้อผ้าอื่นมิควรให้มาดูร้าย (สามดวง กฎมณเทียรบาล). |
ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง | เครื่องสักการะที่เจ้านายหรือขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่เจ้าพระยาขึ้นไปถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน เมื่อได้รับสถาปนาให้ทรงกรมหรือเลื่อนกรมให้สูงขึ้น หรือเมื่อได้รับพระราชทานตั้งยศ. |
ตราตั้ง | น. เอกสารแต่งตั้ง เช่น ตราตั้งพระอุปัชฌายะ ตราตั้งที่พระราชทานให้แก่ธนาคารหรือบริษัทห้างร้านเป็นต้นที่ทำประโยชน์ในราชการส่วนพระองค์หรือประเทศชาติ มีสิทธิที่จะใช้ตราครุฑเพื่อแสดงว่าได้รับพระบรมราชานุญาต. |
ต่างกรม | ว. เรียกเจ้านายที่ได้รับพระราชทานอิสริยยศให้มีข้าคนหมู่หนึ่งจัดตั้งเป็นกรมในปกครองเพื่อช่วยราชการแผ่นดิน เจ้าที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองข้าในกรมของพระองค์ เรียกว่า เจ้านายต่างกรม กรมของเจ้ามีชื่อต่าง ๆ กันไปตามนามของผู้เป็นเจ้ากรม. |
ทรง | ใช้นำหน้าคำนามราชาศัพท์ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงพระสรวล ทรงพระเมตตา ทรงพระประชวร, ในลักษณะนี้จะหมายความว่า มี ก็ได้ เช่น ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระคุณ ทรงพระนาม, เมื่อกริยาเป็นราชาศัพท์อยู่แล้วไม่ใช้คำว่า ทรง นำหน้าซ้อนลงไปอีก เช่น ไม่ใช้ว่า ทรงตรัส ทรงประทับ ทรงพระราชทาน ให้ใช้ว่า ตรัส ประทับ พระราชทาน. |
ทองตรา | น. ทองคำที่ทำรูปลักษณะอย่างเงินพดด้วง มีขนาดต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแก่บุคคลเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระสำคัญ. |
ท่านผู้หญิง | น. คำนำหน้าชื่อสตรีที่สมรสแล้วและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป, ถ้ายังไม่ได้สมรสเรียกว่า คุณ, (โบ) คำนำหน้าชื่อสตรีที่เป็นภรรยาเอกของเจ้าพระยาและเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศท่านผู้หญิง. |
ธงฉาน | น. ธงที่มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักร ๘ แฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้ายและมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง เป็นธงที่ใช้ในเรือพระที่นั่งและเรือหลวง หรือเป็นธงสำหรับหน่วยทหารเรือที่ยกพลขึ้นบก ซึ่งหน่วยทหารนั้นไม่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล |
ธงชัยเฉลิมพล | น. ธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานมี ๓ ชนิด คือ ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ และธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ. |
นิตยภัต | น. อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์, เงินงบประมาณแผ่นดินที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อเบิกจ่ายถวายอุดหนุนอุปถัมภ์แก่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ พระเลขานุการ พระเปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นต้น. |
นิล ๒ | (นิน) น. ชื่อปลานํ้าจืดชนิด Oreochromis niloticus (Linn.) ในวงศ์ Cichlidae ลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ แต่มีลำตัวสีเขียวหรือฟ้าปนน้ำตาล มีจุดดำด่างทั่วตัว ปลาขนาดเล็กจะมีลายเข้มพาดขวางลำตัว ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีลายหรือแนวจุดสีคลํ้าหรือขาวพาดขวางหรือทแยงอยู่โดยตลอด ขนาดยาวได้ถึง ๔๖ เซนติเมตร ทำรังเป็นแอ่งดินและปกป้องดูแลลูกอ่อนไว้ในโพรงปาก สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า ปลานิล. |
บรรดาศักดิ์ | (บันดา-) น. ฐานันดรศักดิ์ที่พระราชทานแก่ข้าราชการหรือบุคคลทั่วไป แบ่งออกเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย โดยมีราชทินนามต่อท้าย เช่น เจ้าพระยายมราช พระยาพลเทพ. |
ปฏิคาหก | น. ผู้รับทาน หมายถึง สมณพราหมณ์ เช่น วันรุ่งพรุ่งนี้จะมีเหตุด้วยปฏิคาหก ยาจกจะมารับพระราชทาน (ม. ร่ายยาว กุมาร), คู่กับ ทายก คือ ผู้ถวายจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร. |
พรหมไทย | น. ที่ดินซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พราหมณ์และยกเว้นภาษีอากร |
พระยาโต๊ะทอง | น. ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานโต๊ะทอง (พานก้นตื้น) เป็นเครื่องสำหรับยศ, ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีบรรดาศักดิ์เสมอตำแหน่งที่ได้รับโต๊ะทอง. |
พระยาพานทอง | น. ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานพานทองเป็นเครื่องสำหรับยศ, ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป มีบรรดาศักดิ์เสมอตำแหน่งที่ได้รับพานทอง. |
พระสนม | น. เจ้าจอมมารดาหรือเจ้าจอมอยู่งานซึ่งทรงยกย่องให้สูงขึ้น โดยได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาราชาวดีเป็นเครื่องยศ. |
พระสนมโท | น. เจ้าจอมมารดาที่ได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี พานทอง เครื่องทองคำอย่างน้อย เป็นเครื่องยศ. |
พระสนมเอก | น. เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม หรือเจ้าจอมอยู่งานที่ได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี พานทอง และเครื่องทองคำอย่างใหญ่ เป็นเครื่องยศ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามี ๔ ตำแหน่ง คือ ท้าวอินสุเรนทร์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรเทวี และท้าวศรีจุฬาลักษณ์. |
พัดยศ | น. พัดพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรมได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป หรือแก่พระภิกษุที่มีความรู้ ความสามารถในการศึกษา การบริหาร หรือการเผยแผ่พระศาสนา เป็นต้น เป็นเครื่องหมายแสดงลำดับชั้นแห่งสมณศักดิ์ มีรูปและชื่อต่าง ๆ กัน คือ พัดหน้านาง พัดพุดตาน พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์. |
พิธี | น. งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคลเป็นต้น เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา |
ไพร่สม | น. ชายฉกรรจ์ซึ่งเป็นราษฎรสามัญผ่านการสักแล้ว พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ไปรับราชการเป็นกำลังแก่มูลนาย, ไพร่สมกำลัง ก็ว่า. |
ภูษามาลา | น. ข้าราชการในราชสำนักมีหน้าที่รักษาเครื่องราชอิสริยยศและเครื่องแต่งพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนถวายทรงพระเครื่องใหญ่ ถวายพระกลด ถวายสุกำ ทำสุกำ เปลื้องเครื่องสุกำศพพระบรมศพ พระศพ และเปลื้องเครื่องสุกำศพที่ได้รับพระราชทานโกศ เป็นต้น เรียกว่า เจ้าพนักงานภูษามาลา, โบราณมีหน้าที่ถวายเครื่องต้นด้วย, ในกฎหมายตราสามดวงเรียกแยกเป็น พนักงานพระภูษา พนักงานพระมาลา. |
ภูษาโยง | น. แถบผ้าที่โยงจากปากโกศหรือหีบศพของหลวงสำหรับคลี่ทอดไปยังพระสงฆ์เมื่อทอดผ้าสดับปกรณ์, ใช้ว่า พระภูษาโยง แก่พระมหากษัตริย์จนถึงพระองค์เจ้า และใช้ว่า ภูษาโยง แก่หม่อมเจ้า รวมทั้งผู้ได้รับพระราชทานเกียรติยศตามเกณฑ์ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ ส่วนสามัญชนทั่วไปใช้ว่า ผ้าโยง. |
ยศ | (ยด) น. ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป |
ยศ | เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกำหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. |
ยุพราช | น. รัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ. |
รถพระที่นั่ง | น. รถยนต์ที่พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทานฉัตร ๗ ชั้นทรง เรียกเต็มว่า รถยนต์พระที่นั่ง, ถ้าเป็นรถม้า เรียกว่า รถม้าพระที่นั่ง. |
รัตนวราภรณ์ | น.ชื่อตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะพระราชทานได้ทั่วไปทุกชั้นบุคคลตามพระราชประสงค์ ไม่เกี่ยวด้วยยศหรือบรรดาศักดิ์. |
รัตนาภรณ์ | น. เหรียญบำเหน็จส่วนพระองค์ที่สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่ผู้จงรักภักดีและทรงคุ้นเคยรู้จัก เพื่อเป็นเครื่องหมายในพระมหากรุณาธิคุณ มี ๕ ชั้น, เดิมเรียกว่า รจนาภรณ์. |
ราชทัณฑ์ | น. โทษที่กระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์, โทษหลวง, เช่น ต้องราชทัณฑ์, เรียกกรมที่มีหน้าที่ลงโทษผู้กระทำผิดตามตัวบทกฎหมายควบคุมอบรมฝึกวิชาชีพให้แก่ผู้กระทำผิด พักการลงโทษและคุมประพฤติ และขอพระราชทานอภัยโทษ ปลดปล่อยและสงเคราะห์ผู้พ้นโทษ เป็นต้น ว่า กรมราชทัณฑ์. |
ราชทินนาม | (ราดชะทินนะนาม) น. ชื่อพระราชทานที่ตั้งกำกับยศหรือบรรดาศักดิ์แก่ขุนนาง เช่น เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาเป็นยศ ยมราชเป็นราชทินนาม หรือกำกับสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จเป็นสมณศักดิ์ พระพุทธโฆษาจารย์เป็นราชทินนาม. |
เรือพระประเทียบ | น. เรือหลวงจัดเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในหรือพระราชทานเป็นยานพาหนะของสมเด็จพระสังฆราช. |